เกณฑ์ทหารกับสมัครใจ อย่างไหนมีศักยภาพสูงสุด
ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง ที่ประเทศไทยเรามีการจัดขึ้นทุกปี หลายคนมีการตื่นตัวทั้งครอบครัวและผู้ที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเอง บ้างก็หาที่บนบานศาลกล่าว บ้างก็หาเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ลูกหลานหรือตนเองรอดพ้นจากการจับถูกใบแดง ซึ่งนั้นหมายถึงการต้องเข้ารับใช้ชาติเป็นทหารเกณฑ์ คำถามคือ เหตุใดหลาย ๆ คนจึงไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ ไหนว่าเป็นลูกผู้ชายต้องรับใช้ชาติ เป็นหน้าที่ที่ควรทำและภาคภูมิใจมิใช่หรือ คำตอบคือ ทุกคนทราบดีว่าเมื่อเข้าไปเป็นทหารแล้วจะต้องได้รับการฝึกเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่เหลืออาจต้องได้ไปเป็นเพียงทหารรับใช้รองมือรองเท้าให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ระยะหลังยังมีกระแสข่าวการซ้อมและทำร้ายทหารเกณฑ์จนได้รับบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดคำถามจากสังคมว่าระบบการเกณฑ์ทหารนั้นดีจริงหรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ระบุหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องเข้ารับราชการทหาร และ พรบ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตร 7 ระบุว่า ชายไทยที่มีสัญชาติไทย ตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องรับราชการทหารทุกคน แต่ก็มีการเปิดโอกาสให้ชายไทยสมัครใจเข้ารับราชการทหาร แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องมีการจับสลากคัดเลือกเกิดขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมพบว่า อัตราผู้สมัครเป็นทหารจะมีจำนวนมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เป็นที่เพียงพอของกองทัพ นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ผู้ที่สมัครใจเข้ารับราชการทหาร จะมีความพร้อมทั้งกายและใจ อีกทั้งมีศักยภาพในการฝึกและปฏิบัติหน้าที่มากกว่าผู้ที่ถูกเกณฑ์เข้ามา อัตราการหลบหนีการจากฝึกและปฏิบัติงานน้อยกว่าด้วย จึงเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า ทหารที่สมัครใจเข้ามารับราชการนั้นจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่า แล้วยังไม่ขัดกับหลักมนุษยชน และสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 ที่ระบุว่า บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา ในหลายประเทศจะมีผู้ที่อ้างสิทธิเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและความเชื่อทางศาสนา เพื่อปฏิเสธการเข้าร่วมภาคกิจทางทหารตลอดจนการเกณฑ์ทหาร ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าการส่งเสริมให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารแล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจเป็นเรื่องที่สำคัญและควรส่งเสริมเป็นอย่างมาก Read more about เกณฑ์ทหารกับสมัครใจ อย่างไหนมีศักยภาพสูงสุด[…]